ปั้นแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองอัจฉริยะเชิงวัฒนธรรม โดย สกสว. ร่วมกับสถาบันการศึกษาและเทศบาลเมือง เร่งต่อยอดความสำเร็จพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจมุ่งยกระดับรายได้และเพิ่มศักยภากเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยว
ปัจจุบันจังหวัด แม่ฮ่องสอน ได้รับการจัดอันดับเป็นจังหวัดที่ประชาชนอยู่อาศัยอย่างมีความสุขมากเป็นอันดับ 1 ของไทยจากที่เคยเป็นเมืองที่ประชาชนอยู่ในกลุมมีรายได้ต่ำสุด
นายกานต์ ปราณีตศิลป์ กรรมการ บริษัทแม่ฮ่องสอนพัฒนาเมือง จำกัด เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เร่งต่อยอดความสำเร็จของพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของจังหวัดภายใต้โครงการ “พัฒนากลไกเพื่อการเป็นเมืองอัจฉริยะเชิงวัฒนธรรมและการประยุกต์ใช้แนวทางพิพิธภัณฑ์มีชีวิตในการจัดการเมืองแม่ฮ่องสอนเพื่อมุ่งยกระดับรายได้ต่อหัวของประชากรให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้แนวทางดำเนินการมุ่งพัฒนาไปสู่ระบบดิจิทัลผ่านเวบไซต์หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลทันสมัยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่ตลาดอีคอมเมิร์ส เปิดโอกาสให้ประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนได้เข้าสู่การตลาดผ่านเทคโนโลยีอย่างเปิดกว้างมากขึ้น พร้อมเปิดตลาดมาร์เก็ตเพลส ด้านการท่องเที่ยวและสินค้าด้านการเกษตรให้ประชาชนในพื้นที่เร่งเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจของตนเองไปสู่ตลาดในโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
“ให้นักท่องเที่ยวภายนอกได้เข้าถึงแหล่งกิน แหล่งเที่ยว ไฮไลต์ด้านการเกษตร และแหล่งวัฒนธรรมต่างๆ ของเมืองแม่ฮ่องสอนมากขึ้นซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ต่อหัวของประชากรตามวัตถุประสงค์ ในอนาคตหากมีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่ม จะส่งผลให้รัฐพิจารณาเพิ่มเที่ยวบิน ได้ด้วย
ชณะที่ภาคเอกชนเร่งพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงแรม ตลอดจนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตรกรรมด้วยสายการบินไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ” นายกานต์ กล่าวและว่า
สำหรับแผนการขับเคลื่อนจะให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2563 โดยแบ่งงานหลักออกเป็น 2 สาขา คือสาขาการพัฒนา และสาขาการวิจัย ที่จะลงลึกไปทางเศรษฐกิจ-สังคมและห่วงโซ่อุปาทาน ว่ายังขาดกลไกใดบ้างที่เป็นอุปสรรคทำให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่ำ
“เมื่อได้ข้อสรุปจะนำไปวิเคราะห์เชิงนโยบายสาธารณะต่อไปโดยร่วมมือกับวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน ส่วนในสาขาการพัฒนานั้น จะเร่งพัฒนาเวบไซต์ให้ใช้งานได้โดยบูรณาการความร่วมมือของคนในท้องถิ่น รวมถึงวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน เบื้องต้นใช้พื้นที่ของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและตำบลใกล้เคียงเป็นศูนย์ดำเนินการ “
นายกานต์ กล่าวอีกว่าในการลงพื้นที่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่าชาวแม่ฮ่องสอนยังให้ความสำคัญต่อการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น ต้องการไลฟ์สไตล์แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้นจึงจะพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะตามแบบฉบับแม่ฮ่องสอนนั่นคือสมาร์ทซิตี้เชิงวัฒนธรรม โดยในแผนต่อไปจะดึงเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นพื้นที่ที่พิพิธภัณฑ์มีชีวิตตั้งอยู่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเป็นนโยบายสาธารณะต่อไป
“เบื้องต้นนั้นเป็นความร่วมมือกันของภาคการศึกษาในพื้นที่เป็นหลัก โดยการพัฒนาด้านไอทีวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอนรับดำเนินการ ร่วมกับสถาบันไทยใหญ่ศึกษา และวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เป็นการขับเคลื่อนด้วยกำลังคนรุ่นใหม่ผสมผสานกับคนรุ่นกลางและรุ่นเก่าป้อนคอนเทนต์ เนื้อหานำเสนอองค์ความรู้ด้านไอที วัฒนธรรมและนวัตกรรมโดยใช้ศักยภาพคนรุ่นใหม่สื่อสารในการขับเคลื่อนโครงการ”นายกานต์กล่าวและว่า
เมื่อพัฒนาเวบไซต์ได้สำเร็จจะเปิดรับน้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เข้ามาเป็นทีมงานขับเคลื่อน ให้ทุกคนสามารถสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ในท้องถิ่น หรือกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ด้วยศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีแพลตฟอร์มใหม่เพื่อพลิกโฉมเมืองอัจฉริยะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์และเกิดความยั่งยืนต่อไป