สกสว.เดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานวิจัย TRF Flagship Research Program (TRP) ปี 2562 ของ 4 เมืองหลักด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ก่อนนำผลการวิจัยไปจัดทำแผนบูรณาการและออกแบบขับเคลื่อนกพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)
เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ สก.สว.ร่วมกับสำนักงานประสานงานและสังเคราะห์โครงการบูรณาการด้านการพัฒนาเมือง นำโดย ดร.ปิยะนุช ธูปถมพงศ์ หัวหน้าโครงการจัดเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยระยะ 6 เดือนที่ได้ทุนสนับสนุนจาก สกสว. ที้งนี้ป็นการประชุมนำเสนอรายงานความก้าวหน้าระยะ 6 เดือน ภายใต้แผนงานวิจัย TRF Flagshipเเ Research Program (TRP) ปี 2562 เรื่องการจัดทำแผนบูรณาการจังหวัด ออกแบบ และพัฒนาเมืองเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดของ 4 เมืองได้แก่ สระบุรี นครนายก พิษณุโลก และแม่ฮ่องสอน พร้อมกับได้ติดตามความคืบหน้าและรับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนำไปปรับปรุงแผนงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วนำเสนอสกสว.ในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป
สำหรับจังหวัดสระบุรีนำเสนอผลการวิจัยโครงการ “การฟื้นฟูตลาดเก่าแก่งคอยเพื่อการก้าวสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” มีนายนพดล ธรรมวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการ จังหวัดนครนายก นำเสนอผลการวิจัยโครงการ “การพัฒนาชุดข้อมูลและภาคีเพื่อการพัฒนาจังหวัดนครนายก” มี ผศ.ดร. สนธยา สีละมาด ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถ.รังสิต-นครนายก คลอง 16 เป็นหัวหน้าโครงการ จังหวัดพิษณุโลก นำเสนอผลการวิจัยโครงการ “การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับเมือง ด้วยการพัฒนาย่านวัฒนธรรม ชุมชนตลาดใต้” มีนายธนวัฒน์ ขวัญบุญ เป็นหัวหน้าโครงการ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำเสนอผลการวิจัยโครงการ “การพัฒนากลไกเพื่อการเป็นเมืองอัจฉริยะเชิงวัฒนธรรม และการประยุกต์ใช้แนวทางพิพิธภัณฑ์มีชีวิตในการจัดการเมืองในเมืองแม่ฮ่องสอน” มีนายกานต์ ปราณีตศิลป์ เป็นหัวหน้าโครงการ
ด้าน นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า ในครั้งนี้ได้เตรียมความพร้อมนำเสนอความคืบหน้าของกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ครั้ง พร้อมกับนำเสนอความคืบหน้าสำหรับแผนที่จะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งเกิดจากการลงพื้นที่เชิงลึกของนักวิจัย “จะได้เห็นแผนปฏิบัติการที่จะเร่งผลักดันโครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงมากขึ้น พร้อมกับได้เห็นภาพความร่วมมือ ผลการศึกษา ผลการวิจัยในหลากหลายแง่มุมที่ประชาชนเกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยจะมีโครงการเร่งดำเนินการไปจนถึงเดือนตุลาคมนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในทีมงานต่อการจัดสร้างทางม้าลายรูปแบบ 3 มิติ การพัฒนาสมาร์ทบัสให้บริการรอบเมืองแก่งคอย ตลอดจนพื้นที่สีเขียวกรีนสตรีทและกรีนแอเรียในพื้นที่เพื่อนำเสนอในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้”
ขณะที่นายกานต์ ปราณีตศิลป์ หัวหน้าโครงการในนามคณะกรรมการบริษัท แม่ฮ่องสอนพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำวีดีทัศน์นำเสนอเรียบร้อยแล้วซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อสร้างความเข้าใจแผนงานวิจัยที่ชัดเจนและถูกต้อง ให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัวและสร้างการรับรู้ในวงกว้างยิ่งขึ้น “เน้นเชิงศึกษาวิชาการที่มุ่งการทำความเข้าใจ และโครงการนี้จะแตกต่างจากโครงการของจังหวัดอื่นๆที่ไม่เน้นสร้างการรับรู้และรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ เน้นการนำเสนอด้านวิชาการด้านการวิจัยมากกว่า ไม่เน้นการพัฒนาทางกายภาพ ต้องการสื่อให้คนทั่วไปเห็นข้อเท็จจริงว่าจริงๆแล้วประชาชนในแม่ฮ่องสอนเป็นอย่างไร เศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวเป็นอย่างไรทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ให้เข้าใจง่ายๆนั่นเอง”