นายชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักกองทุน กทปส. เปิดเผยว่า ทิศทางการสนับสนุนการพัฒนาวิจัย ยังคงมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์สาธารณะและหวังให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างครอบคลุม ผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนา การเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อทุกมิติ และส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร การคุ้มครองผู้บริโภคสอดคล้องตามนโยบายของรัฐ เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพงานวิจัยสู่การใช้งานจริง โดย กองทุนฯ ได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการกองทุนระยะ 4 ปี พ.ศ. 2563-2566 เช่น แผนเอไอแห่งชาติ รวมถึงนโยบายแห่งรัฐที่มีการกำหนดขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ล่าสุด กทปส. ให้ทุนสนับสนุนโครงการบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย ซึ่งได้รับการจัดสรรทุนประเภทที่ 1 ประจำปี 2561 ตามวัตถุประสงค์มาตรา 52 (2) ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการและบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง โดยได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมด้วยระบบเทคโนโลยี HoME@Cloud ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดนวัตกรรมเบรคเกอร์ 4.0 ของนักวิศวกรไทย เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมไฟฟ้ายุคดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งสำคัญคือการจัดการองค์รวมของระบบ IoT โดยอาศัยตู้รวมไฟฟ้าเป็น GATEWAY เปลี่ยนระบบป้องกันไฟฟ้าแบบเก่าเป็นเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าดิจิทัลเพื่อการป้องกันภัยจากไฟฟ้า และได้มีการติดตั้งใช้งานจริงของระบบเบรกเกอร์ 4.0 ให้กับองค์กรสาธารณะของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เยาว์และผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังติดตั้งและใช้งานในองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก กลางและใหญ่ รวมกว่า 50 แห่ง โดยในวันนี้ได้เข้ามาเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินการติดตั้งและใช้ระบบ ณ บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด (พันทิปดอทคอม) กรุงเทพฯ และบริษัท สิงโตพลาสติก จำกัด โรงงานพลาสติก จังหวัดกาญจนบุรี ทั้ง 2 แห่งซึ่งรูปแบบารใช้งานจะแตกต่างกันทำให้เห็นความสามารถของการบริหารจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพที่รองรับการใช้งานได้ทั้งองค์กรขนาดเล็กจนถึงใหญ่
สำหรับนวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 เป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาต่อยอดสร้างลานข้อมูลขนาดใหญ่ (Platform) สำหรับธุรกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) โดยอาศัยจุดเริ่มต้นของการมีไฟฟ้าใช้ ที่ตู้รวมไฟฟ้า หัวใจสำคัญของระบบจึงจำเป็นที่จะต้องมั่นใจในการป้องกันความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในระบบเดียวและในความเป็นดิจิทัลยังทำให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาไฟฟ้าขัดข้องที่เกิดขึ้นได้ และสามารถนำข้อมูลมาวางแผนการใช้พลังงานเป็นวัน สัปดาห์ เดือน ปี รวมทั้งแจ้งเตือนความผิดปกติของปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการประหยัด นำไปสู่โครงสร้างพื้นฐานรองรับความเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศที่มีมาตรฐานเดียวทั่วกัน ทั้งนี้การดำเนินการมอบทุนและสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของกองทุนฯ เพื่อประโยชน์สาธารณะ นับเป็นการแสดงศักยภาพของนักวิศวกรไทยที่สามารถพัฒนานวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางชัชชม สุจริตโศภิต ผู้พัฒนานวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ได้เปิดเผยว่าการได้รับทุนจาก กทปส. ในครั้งนี้เป็นการได้โอกาสที่จะเริ่มต้นวางมาตรฐานด้านดิจิทัลแบบองค์รวมอีกด้านหนึ่งในการเชื่อมโยงระบบดิจิทัลทั้งหมดของเมืองอัจฉริยะที่จะมีมาในอนาคต โดยอาศัยจุดที่เป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งคือไฟฟ้า ที่ทุกอุปกรณ์ไม่อาจทำงานได้หากปราศจากไฟฟ้า และในกระแสไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้าที่อุปกรณ์ต่างๆใช้งานนั้น ได้บรรจุสารหรือ Intelligence เอาไว้ เมื่อเอาความสามารถทางดิจิทัลมาดิจิไทส์สารในคลื่นไฟฟ้าก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆได้ ซึ่งในโครงการนี้เป็นการนำมาใช้ประโยชน์ขั้นต้นก่อนคือการป้องกันภัยและการจัดการพลังงานพร้อมมี Gateway เพื่อรองรับ IoT นับเป็นการหลอมรวมกันของระบบสารสนเทศและไฟฟ้าอย่างแท้จริง โดยอาศัยช่องว่างของการมาทดแทนระบบเบรกเกอร์เดิม ด้วยเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการเริ่มต้นมีไฟฟ้าใช้ให้กับอุปกรณ์ภายในบ้าน : ขอบคุณข่าวจาก INTV