เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 กันยายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ร่วมแถลงข่าวเปิดโครงการผนึกกำลังเป็นภาคีเครือข่ายในโครงการรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่นำร่อง เพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ.อย่างยั่งยืน ที่สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน โดยผู้ว่าฯกทม. ได้รับมอบประกันภัยพ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ จากเลขาธิการคปภ.เพื่อนำประกันภัยพ.ร.บ.ส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกทม.จำนวน 500 ฉบับ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีคนขับขี่รถจักรยานยนต์ประมาณ 4,000,000 คัน แต่มีการต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแค่ 2,900,000 คัน ถือเป็น 70% ของคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งหมดในกรุงเทพฯ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็จะมีปัญหาในการได้รับสินไหมทดแทน หรือความรับผิดชอบในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ และงานในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทาง กทม. ได้มีการร่วมมือกับ คปภ. เพราะอุบัติเหตุ 70,000 ครั้งต่อปีของ กทม. มาจากรถจักรยานยนต์
ทั้งนี้ กทม. ได้มีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการขับขี่ ทั้งในแง่ของการปฏิบัติตามกฎจราจร การใช้ความเร็วที่เหมาะสม ซึ่ง พ.ร.บ. ถือเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ร่วมกับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ส่วนใหญ่ คนที่ใช้รถจักรยานยนต์จะอาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งใน กทม. มีชุมชนที่เป็นชุมชนแออัดกว่า 900 แห่งมีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 900,000 คน การมี พ.ร.บ. จึงเป็นการลดความเสี่ยงหากเกิดอุบัติเหตุหรือการสูญเสียในอนาคต ก็จะมีค่ารักษาพยาบาลช่วยบรรเทาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ซึ่ง กทม. จะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในหลายๆเรื่อง เช่น สนับสนุนให้มีการออมวันละ 1 บาท เพราะประกันภัย พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์มีค่าเบี้ยประกันไม่สูง เพียง 300 กว่าบาท หากออมวันละ 1 บาท 1 ปี ก็จะทำให้เพียงพอในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย, การสวมหมวกกันน็อกทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง, การควบคุมความเร็ว การเคารพกฎจราจร ขณะเดียวกันทาง กทม. จะมีการไปเกาะกลุ่มเป้าหมายในหลายๆกลุ่มด้วยเช่น กลุ่มวินรถจักรยานยนต์ และบริษัทที่มีการใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมาก
ด้านนายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ. ได้มีการมอบประกันภัย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกทม. จำนวน 500 ฉบับ มีอายุการใช้งาน 1 ปี โดยหลังจากนี้ทาง กทม. จะเป็นผู้นำไปจัดสรร ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่อไป ส่วนความร่วมมือหลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกันกับทาง กทม.ในการดูแลส่วนของบุคลากรลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ว่าจะสามารถเข้าดูแลเรื่องอื่นๆได้หรือไม่ ,การทำประกันอัคคีภัย จะมีพัฒนากรรมธรรม์ให้สอดคล้องกับปสระชาชนที่อยู่ในพื้นที่กทม. และการทำประกันสุขภาพ ต่อ ยอดจากสวัสดิการเดิมที่รัฐมีให้ โดยจะใช้กทม.เป็นพื้นที่นำร่อง