ช่วงค่ำวันนี้ (วันที่ 26 พฤษภาคม 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนการจัดเวทีบรรเลงเพลง คารวะผู้กล้าและผู้เสียสละด้วยเสียงเพลง ดนตรี ที่สกลนคร โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธี บาทหลวงยอแซฟ สุรศักดิ์ พงษ์พิศ เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล กล่าวรายงาน นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ให้การต้อนรับ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เกียรติมอบช่อดอกไม้ ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัย ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ จังหวัดสกลนคร
งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน และโครงการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ควบคุมการบรรเลงวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า โดย ดร. ธีรนัย จิระสิริกุล และสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลง โดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ให้เกียรติเข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เมืองสกลนคร หรือเรียกอีกชื่อว่า เมืองหนองหารหลวง เป็นดินแดนแหล่งธรรม พื้นที่ราบภาคอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีศิลปะและวัฒนธรรมที่งดงาม อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ของจังหวัดสกลนคร ในวัยเด็กผมเคยศึกษาอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญและมีความคุ้นเคยกับศาสนาคริสต์ซึ่งในโบสถ์จะมีการขับร้องเพลงอยู่เป็นประจำและมีท่วงทำนองอันไพเราะหากกล่าวถึงศิลปะทางดนตรีนับเป็นสิ่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราทุกคน การถ่ายทอดการแสดงศิลปะทางดนตรีในครั้งนี้เป็นงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นการรังสรรค์ท่วงทำนองบทเพลงคลาสสิกอันเป็นเอกลักษณ์ดนตรีสามารถเชื่อมทุก ๆ ศาสนาเข้าหากันได้อย่างลงตัว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข เปิดเผยว่า คริสต์ศาสนาเป็นพื้นฐานของเพลงคลาสสิก ดนตรีอยู่คู่กับคริสต์ศาสนามาตลอด ในพิธีกรรมและการสวดภาวนาใช้เพลงเพื่อสื่อสารกับพระเจ้า มีบทเพลงสำคัญของคริสต์ศาสนา ที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ มีการสวดร้องเพลงในโบสถ์ ซึ่งคาทอลิกทุกคนสามารถที่จะร้องเพลงของวัดได้อย่างไพเราะ ร้องได้เต็มเสียง “เสียงใสออกมาจากจิตใจที่สะอาด” การได้พบประวัติศาสตร์ของชุมชนที่สำคัญครั้งนี้ สามารถบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บันทึกเรื่องราวโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อแบ่งปันความรู้
อีกทั้งยังมีประติมากรรมหินอ่อน เทวดามีคาแอล ที่ตั้งไว้หน้าโบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ เทวดามีคาแอล “มีคาแอล” แปลว่า ใครเล่าจะมาเทียบเท่าพระเป็นเจ้า อัครเทวดาแห่งความคุ้มครอง และปกป้องพระศาสนจักรคาทอลิก ดังนั้นดนตรีจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญของคริสต์ศาสนา ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงได้นำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าเข้ามาเล่นดนตรีที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ มาแสดงบทเพลงคลาสสิกเพื่อคารวะผู้กล้าและคารวะผู้เสียสละด้วยเสียงเพลง สู่การขยายศิลปะทางด้านดนตรีต่อไป
ในโอกาสนี้ได้จัดการแสดงบรรเลงบทเพลงเปิดการแสดงด้วยเพลงโหมโรง เป็นเพลงประกอบด้วยเรื่องราวของวิลเลียมเทล เพลงรอสซินีเพลงซองทูเดอะมูน ขับร้องโดย คุณศศินี อัศวเจษฎากุล เป็นบทเพลงวิงวอนให้พระจันทร์นำความรู้สึกของเธอไปบอกให้แก่คนรักเป็นบทเพลงที่ไพเราะรัญจวน นิยมนำมาขับร้องเดี่ยว เพลงเลาดาเต โดมินุม ขับร้องโดย นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ เพลงบทนี้นิยมนำมาขับร้องในงานเทศกาลหรือในสถานที่สำคัญทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า เพลงอาเวมารีอา ขับร้องโดย นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ เป็นบทเพลงบทภาวนาของชาวคาทอลิก เพลงนีซุนดอร์มา ขับร้องโดย นายฉันทัช นีล ไนท์ และการแสดงไวโอลินคอนแชร์โต หมายเลข 3 ในบันไดเสียงจีเมเจอร์ ผลงานลำดับที่ 216 โดย นายสิทธิชัย เพ็งเจริญ เพลงมั่นใจในพระองค์ ขับร้องโดย นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ
เพลงมั่นใจในพระองค์ เป็นบทเพลงประจำอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล เพลงทะเลชีวิต ขับร้องโดย นายอิสรพงศ์ ดอก เพลงโปรดเปลี่ยนแผ่นปังบูชา ขับร้องโดย นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ เพลงมิตรสหาย ขับร้องโดย นางสาวศศินี อัศวเจษฎากุล และบทเพลงสุดท้ายของค่ำคืนนี้ เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ขับร้องโดย นายอิสรพงศ์ ดอกยอ ถือเป็นบทเพลงอันไพเราะที่สร้างพลังให้แก่คนรุ่นใหม่ ทั้งนี้การแสดงดังกล่าวได้เปิดให้เข้าชมฟรีและมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก