เมื่อวันที่ 12 เมษายน ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจวัดได้ 37-78 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 18 พื้นที่ ดังนี้ 1.เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม(ประมาณซอยเพชรเกษม 36) ทางเข้ามหาวิทยาลัย : มีค่าเท่ากับ 78 มคก./ลบ.ม. 2.เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมัน เอสโซ่ ซ.ลาดพร้าว 95 : มีค่าเท่ากับ 65 มคก./ลบ.ม. 3.เขตสาทร สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอย ถนนเซนต์หลุยส์ : มีค่าเท่ากับ 62 มคก./ลบ.ม. 4.เขตบางซื่อ ภายในสำนักงานเขตบางซื่อ : มีค่าเท่ากับ 56 มคก./ลบ.ม. 5.เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน : มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม.
6.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม. 7.เขตบางกอกใหญ่ บริเวณสี่แยกท่าพระ แขวงวัดท่าพระ : มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม. 8.เขตคลองเตย ภายในสำนักงานเขตคลองเตย : มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม. 9.เขตตลิ่งชัน ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดกับถนนบรมราชชนนี : มีค่าเท่ากับ 52 มคก./ลบ.ม. 10.เขตราชเทวี ภายในสำนักงานเขตราชเทวี : มีค่าเท่ากับ 52 มคก./ลบ.ม.
11.เขตบางกะปิ ข้าง ป้อมตำรวจตรงข้ามสำนักงาน เขตบางกะปิ : มีค่าเท่ากับ 52 มคก./ลบ.ม. 12.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม. 13.เขตบางขุนเทียน ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม. 14.เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม. 15.เขตดอนเมือง ด้านข้างสำนักงานเขตดอนเมือง : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม. 16.เขตบางนา บริเวณหน้าห้าง สรรพสินค้าบิ๊กซี บางนา : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม. 17.เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม. และ 18.เขตสายไหม ป้ายรถเมล์ด้านหน้าสำนักงานเขตสายไหม : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศปานกลาง
ด้าน
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ ว่า ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอก จัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่สูงจนมีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน รวมทั้งทำการล้างทำความสะอาด ดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ในพื้นที่ที่คาดว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด พร้อมทั้งแนะนำการป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมถึงให้คำแนะนำการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องแก่ประชาชน
พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ เตรียมหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีมาตรการ ดังนี้ 1. ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึก ที่ได้ดำเนินการติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล 2. พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) 3. สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดกทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศที่โรงพยาบาลตากสิน โทร. 02 437 0123 (วันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 08.00 – 12.00 น.) โรงพยาบาลกลาง โทร.02 225 1354 (วันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น.) โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร. 02 289 7198 (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.30 น.) โรงพยาบาลสิรินธร โทร.02 328 6900 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 15.30 น.) และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โทร.02-444-0163 ต่อ 8946 (วันอังคาร เวลา 08.00 – 16.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
รวมทั้งจัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัดฯ พร้อมประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้ง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครปี 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และยกระดับมาตรการตามความเข้มข้นของค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และมาตรการเชิงรุกเพื่อควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยดำเนินการล้างทำความสะอาด ดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเพิ่มความถี่ในพื้นที่ที่คาดว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะสูงเกินมาตรฐาน ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร กำหนดจัดประชุมเพื่อติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานตามแผนฯ วิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ รวมทั้งเตรียมจัดทำแผนการดำเนินงานของปี 2566 ซึ่งจะได้มีการประกาศแผนฯ ล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ พร้อมประสานส่งแผนฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผน เป็นการเตรียมพร้อมในการติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการเกิดฝุ่น อีกทั้งเป็นการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต ซึ่งกรุงเทพมหานครมีช่องทางการแจ้งเตือนการคาดการณ์และสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ พร้อมรายงานข้อมูลและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ประกอบด้วย เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com www.prbangkok.com เฟซบุ๊ก : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, เพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ แอปพลิเคชัน : AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ และจอป้ายจราจรอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากพบค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่องจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง พร้อมแนะนำการปฏิบัติหากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง