Monday, 2 December 2024 | 5 : 27 pm
Monday, 2 December 2024
5 : 27 pm

ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวริมคลองลาดพร้าว- คลองเปรมฯ-คลองแสนแสบ

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ศาลาว่าการกทม.นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ได้เน้นย้ำถึงแนวทางดูแลประชาชนริมคลองเพื่อขับเคลื่อนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการสร้างท่าเรือที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อความปลอดภัย การจัดการกับตะกอนท้องคลอง จัดเก็บขยะและวัชพืช บำบัดน้ำเสีย และปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมคลองให้ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนริมคลอง โดยเปลี่ยนจากผู้บุกรุกลำน้ำให้เป็นผู้อยู่อาศัยให้ถูกกฎหมายผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น บ้านมั่นคง การส่งเสริมการจัดพื้นที่เพื่อการค้าขายในจุดที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว โดยให้ภาครัฐเข้าไปสนับสนุนควบคู่กับการส่งเสริมวิถีชุมชนเพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยริมคลองได้ประโยชน์ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยนำร่อง 3 คลองหลัก คือ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ

ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาคลองดังกล่าว โดยร่วมกันดำเนินการจัดเก็บขยะและวัชพืชอย่างสม่ำเสมอพร้อมแก้ไขปัญหาการรุกล้ำ โดยได้มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาคลองและพื้นที่ริมคลองในด้านต่าง ๆ ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนริมคลองและจัดทำระบบรวบรวมน้ำเสีย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยถาวรรองรับประชาชนผู้รุกล้ำริมคลอง และหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาคลองสำเร็จตามเป้าหมายและสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล โดยโครงการก่อสร้างเขื่อนริมคลองลาดพร้าว มีผลงานรวมทั้งโครงการร้อยละ 55.6 โครงการบ้านมั่นคงที่คลองลาดพร้าว ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วกว่าร้อยละ 50.02 ประกอบด้วย 35 ชุมชน 3,536 ครัวเรือน โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร มีผลงานรวมทั้งโครงการร้อยละ 13.40 โครงการบ้านมั่นคงที่คลองเปรมประชากร ดำเนินการได้ประมาณร้อยละ 14.31 โดยดำเนินการได้แล้ว 8 ชุมชน 914 ครัวเรือน จากเป้าหมาย 6,386 ครัวเรือน ขณะที่คลองแสนแสบมีแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมกว่า 30 โครงการ ทั้งการสร้างท่าเรือที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อความปลอดภัย การจัดการกับตะกอนท้องคลอง จัดเก็บขยะและวัชพืช บำบัดน้ำเสีย และปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมคลองให้ถูกสุขลักษณะ

สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)ดำเนินการตามแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (W-MAP) ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยจะดำเนินการศึกษาความเหมาะสม รับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมทั้งออกแบบรายละเอียดโครงสร้างและระบบขนส่ง เรือ ล้อ ราง และทางจักรยานในคลองบางลำพู – สุวินทวงศ์ คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว รวมทั้งงานกำจัดสิ่งปฏิกูลสิ่งโสโครกเศษวัสดุและอื่น ๆ ในคลองต่าง ๆ เพื่อให้การเดินเรือได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ได้ตรวจสอบสภาพท่าเรือที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยให้สำนักงานเขตดำเนินการตรวจสอบท่าเรือในพื้นที่เป็นประจำตามแบบฟอร์มกรมเจ้าท่า หากท่าเรือที่มีสภาพชำรุดหรือไม่ปลอดภัยกับการใช้งานจะดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงซ่อมแซม และถ้าเป็นท่าเรือของหน่วยงานอื่นหรือเอกชนจะมีหนังสือประสานเจ้าของท่าเรือให้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้มีความแข็งแรงปลอดภัย โดยก่อนทำการปรับปรุงซ่อมแซมจะทำการปิดล้อมท่าเรือและติดป้ายงดการใช้ท่าเรือชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และได้ดำเนินการจัดการเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยายเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกการเดินทางเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนริมคลองมีเส้นทางในการเข้าถึงบ้านเรือน ส่งเสริมอาชีพและสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจในชุมชนริมคลอง สร้างแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำควบคู่ไปกับการพัฒนาเส้นทางจักรยานริมคลอง ส่งเสริมให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจในการดูแลรักษาน้ำในลำคลองให้สะอาด โดยกทม.มีแผนที่จะพัฒนาการเดินเรือขยายเส้นทางการเดินเรือตั้งแต่คลองบางลำพูต่อเนื่องคลองแสนแสบที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงสุวินทวงศ์ (มีนบุรี) ซึ่งหากจัดการเดินเรือได้ตลอดเส้นทางจะมีส่วนในการส่งเสริมการค้าขาย การท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ผู้ที่อยู่อาศัยริมคลองในระยะยาวในอนาคต

สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ได้ดำเนินการกำหนดแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำได้ในรูปแบบ One Day Trip และกำหนดวัน เวลา ที่ชัดเจน ในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น จัดกิจกรรมทุกวันเสาร์หรืออาทิตย์ที่สองของเดือน เป็นต้น พร้อมกำหนดกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยว เช่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมของเด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ การขายสินค้าทางการเกษตร การขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน การขายอาหารและเครื่องดื่ม การจัดการแข่งขันพายเรือคายัค การจัดกิจกรรมแรลลี่เรือพายในคลอง การจัดให้มีนักเล่าเรื่องท้องถิ่น เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตำนาน นำเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนด เช่น เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ที่มีความรู้ในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Facebook ของส่วนการท่องเที่ยว เว็บไซต์สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สื่อประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

สำหรับผู้สนใจและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งแผนการท่องเที่ยวดังกล่าวจะดำเนินการพร้อมกับการป้องกันโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวตามมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น การประเมินตัวเองสำหรับสถานประกอบการ (COVID Free Setting) มาตรฐานความปลอดภัยป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID 19) รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop COVID) ปฏิบัติตามหลัก DMHTTA อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ สำนักพัฒนาสังคม จะลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องร่วมกับสำนักงานเขตเพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนริมคลอง เช่น ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ริมคลองเปรมประชากร เขตจตุจักร ที่มีบ้านเรือนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสิ้น จำนวน 196 ครัวเรือน เพื่อมอบหมายให้สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ และสำนักงานการพัฒนาชุมชน ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตจตุจักร สำรวจความต้องการของประชาชนในชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือตามความต้องการ เช่น ด้านพัฒนาอาชีพ การจัดหาทุนประกอบอาชีพ หรือการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนต่อไป นอกจากนี้สำนักพัฒนาสังคมจะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการชุมชนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ. 2564 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 ซึ่งมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยมีคณะกรรมการชุมชนเป็นกลไกสำคัญหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนริมคลอง และจะดำเนินการจัดทำตัวอย่างโครงการให้สำนักงานเขตเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน สปสช. ในการให้ความรู้และจัดทำถังดักไขมันสำหรับใช้ในครัวเรือน เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชนและบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนอีกด้วย

Lastest