วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนาวิชาการ เรื่อง “ความหวังทุเรียนไทย ผ่านการวิจัยและนวัตกรรม” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน และเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัย
รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.สุมิตร คุณเจตน์ ผอ.กองส่งเสริมการอารักขาพืชฯ กรมส่งเสริมการเกษตร นางปัทมา นามวงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี นายกสมาคมทุเรียนไทย นายกสมาคมผู้ส่งออกทุเรียนไทย เครือข่ายเกษตรกร และสื่อมวลชน ให้เกียรติเข้าร่วมงานเสวนาฯ ณ โรงแรมมณีจันทร์รีสอร์ท ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
โดยการจัดเสวนาวิชาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)” ซึ่งมี รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีภารกิจหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่นักวิจัย หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสหสาขาวิชาการ โดยมุ่งเน้นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมชุมชน และเชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศ การพัฒนาด้านการเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักของ จังหวัดจันทบุรี และของประเทศ
ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเราประสบปัญหาภาวการณ์แข่งขันที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงการควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพ ดังนั้น แนวทางที่จะพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน จึงต้องพัฒนาทั้งระบบด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ จังหวัด เกษตรกร ภาคเอกชน ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เน้นการผลิตที่สอดคล้องกับตลาดโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต สร้างความมั่นคงของตลาดในประเทศและขยายตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดคุณภาพมากขึ้น
ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการวิจัย พัฒนา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการสมัยใหม่ ในการบริหารจัดการสวนทุเรียน การจัดการผลผลิต การเพิ่มคุณภาพการส่งออก เพื่อเป็นตัวหนุนเสริมให้การทำการเกษตรมีคุณภาพสูง รวมถึงการจัดการองค์ความรู้ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรสามารถเข้าถึงนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ในการบริหารจัดการให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ นับเป็นช่องทางในการผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง การจัดประชุมเสวนาเชิงวิชาการในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเน้นย้ำความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาคุณภาพของทุเรียนที่เป็นสินค้าเกษตรให้เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่มุ่งมั่นความร่วมมือของทุกฝ่าย ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ วช. ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนผ่านความร่วมมือจากทีมนักวิจัย ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญต่องานวิจัย และนวัตกรรม พร้อมร่วมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาเกษตรกร โดยผสานความรู้ร่วมผนึกกำลังเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดจันทบุรี สู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่ และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และเป็นต้นแบบการทำงานวิจัยแบบบูรณาการให้กับนักวิจัย เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จังหวัดจันทบุรี มีลักษณะภูมิประเทศ ป่าไม้ ภูเขา และเนินเขาสูง มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศร่วมทั้งยังมีอัญมณีที่สำคัญที่เหมาะแก่การศึกษาและทำการวิจัยในอนาคต และมีผลไม้ที่ขึ้นชื่อหลากหลายชนิด เช่น เงาะ มังคุด และพืชเศรษฐกิจหลักอย่างทุเรียนเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดจันทบุรีนับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 งานวิจัยในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและสร้างรายได้ให้กลุ่มชาวเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่สู่การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่เกษตรกร smart farmer ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ด้าน รศ. ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดสรรทุนการวิจัยโครงการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อการส่งออก) ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนางานวิจัยต่อยอดเป็น knowledge platform ที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ในการเพิ่มคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้แรงงานด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เชิงบูรณาการ รองรับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มุ่งเน้นทำให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ และแก้ไขปัญหาการผลิต เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลบนมาตรฐาน GAP ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี smart farmer เข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบปฏิบัติทางการเกษตร Good agricultural Practice: GAP ที่ให้เกษตรกรสามารถกรอกข้อมูลผ่านการพูดผ่าน application ในโทรศัพท์เคลื่อนที่
application ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการประเมินสถานะของแปลงปลูกพืชในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินการใช้สารเคมีเกษตร ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และการปรับฮอร์โมนให้เหมาะสมกับพืชที่ผลิต พร้อมทั้งระบบตรวจติดตามสภาพแปลงปลูกพืชแบบ real-time และนวัตกรรม Basin fertigation model เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ทุเรียนมีคุณภาพสูง (premium grade) ระบบ GIS-smart farming-iOT นวัตกรรมการจัดการโรครากเน่าโคนเน่า (Phytophthora sp) ทดสอบโรคหลังการเก็บเกี่ยว และนวัตกรรมการส่งออกทุเรียนผลสด ภายใต้อุณหภูมิต่ำด้วยนวัตกรรมภาชนะเก็บกลิ่นทุเรียนแกะเนื้อสดเพื่อการส่งออก ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั่วทุกภูมิภาคและผู้ประกอบการส่งออกของไทยในระดับประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อยอดสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดนิทรรศการและการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการวิจัยโดยนักวิจัยร่วมเสวนากับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ที่ได้นำนวัตกรรมไปทดลองใช้งาน รวมทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนา ณ สถานที่จัดงาน และ online ผ่านระบบ zoom meeting ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและการส่งออกแบบครบวงจรเป็นการส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป