Friday, 3 January 2025 | 7 : 57 am
Friday, 3 January 2025
7 : 57 am

ผลศึกษารถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบาสายบางนา-สุวรรณภูมิ เลือกลงทุนแบบPPP Net Cost กทม.เสนอ มท. ก่อนเข้า ครม. คาดเริ่มสร้างปี67เปิดบริการระยะแรกปี72

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 8 เมษายน 2565 ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาข้อมูลโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงินการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรูปแบบความเหมาะสมด้านการลงทุนโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการ ให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมสัมมนา

นายชาตรี กล่าวว่า ในการสัมมนาที่ปรึกษาโครงการฯได้นำเสนอผลสรุปการศึกษาข้อมูลโครงการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีทั้งหมด 14 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี ประกอบด้วย สถานีบางนา สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 17 สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีวัดศรีเอี่ยม สถานีเปรมฤทัย สถานีบางนา-ตราด กม.6 สถานีบางแก้ว สถานีกาญจนาภิเษก สถานีวัดสลุด สถานีกิ่งแก้ว และสถานีธนาซิตี้ ระยะทาง 14.6 กม. และระยะที่ 2 จากธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ จำนวน 2 สถานี ประกอบด้วย สถานีมหาวิทยาลัยเกริก และสถานีสุวรรณภูมิใต้ ระยะทาง 5.1 กม.

รูปแบบของสถานีมี 3 รูปแบบ ดังนี้ ประเภท A สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาเดี่ยว มีจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 17 สถานีวัดศรีเอี่ยม สถานีเปรมฤทัย สถานีบางนา-ตราด 6 สถานีบางแก้ว สถานีวัดสลุด สถานีกิ่งแก้ว สถานีมหาวิทยาลัยเกริก สถานีสุวรรณภูมิใต้ ประเภท B สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาคู่ จะก่อสร้างในกรณีที่ไม่สามารถวางตำแหน่งเสาเดี่ยวได้ มีจำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีกาญจนาภิเษก สถานีธนาซิตี้ ประเภท C สถานีระดับดิน จะออกแบบตามข้อจำกัดด้านกายภาพของพื้นที่ โดยชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ระดับดิน สามารถเดินเชื่อมกับสถานีบางนา รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ด้วยสะพานลอยยกระดับ (Skywalk) มีจำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา สำหรับรูปแบบของรถไฟฟ้าเป็นรถไฟฟ้ารางเบา ขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทางไป – กลับ 1 ชม. สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000 – 30,000 คน/ชม.ส่วนอัตราค่าโดยสาร ในปีเปิดให้บริการ 2572 มีอัตราค่าแรกเข้า 14.4 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2.6 บาท ต่อกม. โดยมีเพดานค่าโดยสารสูงสุด 45.6 บาท

โดยจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปี 2572 ที่เปิดใช้ปริการประมาณ 82,695 คน-เที่ยว/วัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คน-เที่ยว/วัน และในปี 2578 กรณี AOT เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คน-เที่ยว/วัน ส่วนรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมเสนอ แบบPPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยรัฐเป็นผู้เวนคืนที่ดิน ส่วนเอกชนจัดซื้อรถ ติดตั้งระบบและบริหารจัดการเดินรถ โดยจ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งของรายได้แก่รัฐ วงเงินลงทุน36,936 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน1,180 ล้านบาท ค่างานโยธา 32,886 ล้านบาท ทั้งนี้ที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาและรูปแบบการลงทุนส่งให้กทม.ภายในเดือน เมย.นี้ เพื่อเสนอกระทรวงมหาดไทย พิจารณาหลังจากได้รับความเห็นชอบ กทม. จะเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเสนอครม.อนุมัติโครงการ ต้นปี2566 ส่วนขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1.5 ปี เริ่มก่อสร้างปลายปี2567 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี สามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 1 ปี2572

Lastest